ก่อนอื่นหมอขอเคารพนอบน้อมบูชาพระคุณของคุณครูทั้งหลายในอดีตและปัจจุบัน ได้แก่ พระอาจารย์พราหมณ์อจุตตนันนัม (โหราจารย์ใหญ่แห่งกรุงพาราณสี), ท่านอาจารย์ชาญ อินทรโชติ (โหรหลวงในรัชกาลที่ 6 ผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์พาราณสีจากท่านพราหมณ์ฯ โดยตรงตั้งแต่เด็ก), ท่านอาจารย์สุทัศน์ แสงไพบูลย์ (คุณครูโหราศาสตร์ไทยคนแรกในชีวิตของหมอและเป็นคุณพ่อของหมอเอง เมื่อหมออายุได้ 13 ปี ซึ่งขณะนี้หมออายุ 48 ปีแล้ว ปัจจุบัน พ.ศ. 2550 เท่ากับ 35 ปีในการเรียนรู้ในวิชาโหราศาสตร์), พระครูสง่า ตรีเนตร (พระอาจารย์โหราศาสตร์ไทยคนที่ 2 เป็นครูโหรทางจิตวิญญาณของหมอ ซึ่งทำให้หมอได้สัมผัสพลังทางจิตวิญญาณของโหราศาสตร์อันยิ่งใหญ่ โดยผ่านการวางฤกษ์ยาม), ท่านอาจารย์ทวีทรัพย์ เรืองกลิ่น (อาจารย์โหราศาสตร์ไทยพาราณสีคนแรกของหมอ เป็นผู้ที่ทำให้หมอประทับใจในโหราศาสตร์ไทยพาราณสีอย่างมาก หมอนั่งฟังการทำนายของท่านผ่านคนที่มารับการพยากรณ์โดยตรง เป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนจบการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียกได้ว่าเท่ากับอายุในการเรียนหลักสูตรทันตแพทย์ 6 ปีพอดี) ท่านอาจารย์เสวก นิ่มวงษ์ (อาจารย์โหราศาสตร์ไทยพาราณสีคนที่ 2 ของหมอ ผู้มีเทคนิคแพรวพราว มีลักษณะเฉพาะตัวจริงๆ ในการนำทักษาทั้งคู่ธาตุและคู่สมพลของโหราศาสตร์ไทย มาประยุกต์กับโหราศาสตร์พาราณสี จนเกิดลักษณะโดดเด่นที่สามารถพิสูจน์ได้ และให้ผลพยากรณ์ที่น่าพอใจมาก) หมอขอกราบเท้าคุณครูโหราจารย์ทั้งหลายด้วยความนอบน้อม และซาบซึ้งในพระคุณของท่าน ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สืบต่อกันมาจนถึงอนุชนรุ่นหลังอย่างหมอ หมอขอกราบคารวะจากใจจริง
ประวัติความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทยพาราณสีนี้ เริ่มต้นจากท่านอาจารย์ชาญ อินทรโชติ บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดสุทัศน์ ตั้งแต่อายุ 9 ปีจนลาสิกขาบท ขณะอายุ 18 ปีในพ.ศ.2458 ท่านเริ่มเรียนโหราศาสตร์เมื่ออายุ 11 ปี ระหว่างเป็นสามเณร โดยเรียนจากพราหมณ์ชื่อ “อจุตตนันนัม" (อดีตปลัดกรมพิธีแห่งเมืองพาราณสีผู้ได้รับการเชิญมาจากประเทศอินเดีย มาประจำอยู่กรมโหรหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5) หลังจากเรียนได้ 3 ปี ในปีพ.ศ.2453 อาจารย์อจุตตนันนัมก็กลับประเทศอินเดีย ท่านอาจารย์ชาญเลยขอตามไปอินเดียด้วย โดยใช้เส้นทางลงเรือไปขึ้นที่สิงคโปร์ เดินทางต่อไปยังเมืองเมาะตะมะ และเมาะลำเริงเข้าประเทศอินเดีย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 เดือน และได้เรียนโหราศาสตร์จากพราหมณ์ 46 อาจารย์รวมทั้งอาจารย์อจุตตนันนัมเป็น 47 อาจารย์ แต่พบว่าสู้วิชาโหราศาสตร์พาราณสีของอาจารย์อจุตตนันนัมไม่ได้ จึงยึดถือหลักวิชาโหราศาสตร์พาราณสีของอาจารย์อจุตตนันนัมเป็นต้นมา อยู่ประเทศอินเดียได้ 6 ปีก็กลับประเทศไทยในพ.ศ. 2458 ขณะที่กลับมายังเป็นสามเณรอยู่ หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กคนรับใช้ใกล้ชิด ทรงยกย่องให้เป็น “โหรส่วนพระองค์” พระราชทานนามสกุล”อินทรโชติ” โปรดเกล้าฯให้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบปูมดวงดาวที่หอดาราศาสตร์กับเวลาเดินของดวงดาวแต่ละประเทศ ว่าจะผิดเพี้ยนกับประเทศไทยบ้างหรือไม่ อย่างไร ดูจากเส้นละติจูดและลองติจูด เมื่อสอบแล้วพบว่าตรงกันกับประเทศไทย ประเทศที่เดินทางไป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สก๊อตแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และรูมาเนีย โดยมีนายมงคล ลูกครึ่งไทย-เยอรมันเป็นล่ามแปล กลับถึงประเทศไทยในพ.ศ. 2467 รับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 6 จนสิ้นรัชกาลในพ.ศ. 2468 จึงได้ลาออกจากการเป็นมหาดเล็ก เพราะไม่อยากจะได้ชื่อว่าเป็น “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” ขณะรับราชการ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนเชี่ยวคำนวณ แล้วเลื่อนเป็นหลวงราชเริงระบำ เป็นมหาดเล็กรุ่นเดียวกับเจ้าคุณนรรัตน์แห่งวัดเทพศิรินทร์ฯ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้เดินทางไปตามที่ต่างๆ ช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านอาศัยอยู่แถวสูงเนิน โคราช ช่วยเหลือคนทั่วไปโดยใช้วิชาโหราศาสตร์พาราณสี และสอนโหราศาสตร์พาราณสี รับทำพิธีตั้งศาลพระภูมิ จนเสียชีวิต สิริอายุรวม 73 ปี (อ้างอิงจากหนังสือ “โหรกรุงพาราณสี” เขียนโดย พลตำรวจโทแสวง หงส์นคร )
นับได้ว่า โหราศาสตร์ไทยพาราณสีมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน จากกรุงพาราณสี ประเทศอินเดียมาสู่ประเทศไทย ผ่านพระราชสำนักในรัชกาลที่ 5 และ 6 จึงเป็นเกียรติสูงสุด ที่ได้สนองเบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 6 โดยได้แต่งตั้งท่านอาจารย์ชาญ อินทรโชติให้เป็น “โหรส่วนพระองค์” ได้รับบรรดาศักดิ์ “ขุนเชี่ยวคำนวณ” และ “หลวงราชเริงระบำ”
หมออยากให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทยพาราณสีบ้าง เพื่อทุกท่านจะได้มีความภูมิใจและมั่นใจในหลักวิชาต่างๆ ที่บรรพชนของเราได้เก็บรักษาไว้ และสืบทอดต่อมาให้เราได้ศึกษา เป็นภูมิปัญญาจากอดีต สู่ปัจจุบัน และเพื่อพลังความดีในอนาคตที่จะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไปนั่นเอง
ความคิดเห็นของผู้มาเรียน คลิ๊กที่นี่
|